เมนูหลัก > พิธีเปิดห้องประชุมทองใบ ทองเปาด์ และห้องจำลอง ดาวเรือง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ๑๔ ปี วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

 
 
 

พิธีเปิดห้องประชุมทองใบ ทองเปาด์ และห้องจำลอง ดาวเรือง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ๑๔ ปี วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยการเมืองการปกครอง จัดพิธีเปิดห้องประชุมทองใบ ทองเปาด์ และห้องจำลอง ดาวเรือง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ๑๔ ปี วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

ประวัติ ทองใบ ทองเปาด์

ชีวิตวัยเด็กและการเรียน: ทองใบ ทองเปาด์ เกิดวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2469 ที่ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คน ในครอบครัวชาวนา ชีวิตวัยเด็กนั้นไม่ราบรื่นเมื่ออายุ 8 ปี พ่อและแม่เสียชีวิต ส่งผลต่อการเรียนหยุดชะงัก แต่ด้วยความใฝ่เรียนก็ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง จนถึงชั้น ม.5 ได้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมาเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือที่โรงเรียน จึงเป็นการจุดประกายให้ทองใบอยากเรียนต่อที่นั่น ซึ่งพี่ชายและพี่สาวก็ให้การสนับสนุน ปี พ.ศ.2489 ทองใบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นปี พ.ศ.2491 ได้สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และสำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตรบัณฑิต ปี พ.ศ. 2495

เริ่มงานทนาย และสื่อมวลชน: ทองใบ ทองเปาด์ ได้ประกอบอาชีพทนายความ และทำงานสื่อมวลชนโดยมีโอกาสร่วมงานกับสุภา ศิริมานนท์ จิตร ภูมิศักดิ์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ แม้กระทั่งในช่วงหลังที่ทองใบมีชื่อเสียงในฐานะทนายความ เขาก็ยังมีผลงานในฐานะนักเขียนและคอลัมนิสต์

          นักโทษการเมือง: ทองใบเคยถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสั้นๆ 2-3 วัน กรณีกบฏสันติภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2495  ชีวิตของทองเปาต้องเผชิญกับภัยการเมืองอีกครั้งในยุคเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม การรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ส่งผลกระทบโดยตรง ทองใบถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว 20 ธันวาคม พ.ศ.2501 แล้วส่งห้องขังสถานีตำรวจสันติบาลปทุมวัน เป็นเวลากว่า 3 ปี โดยไม่มีการฟ้องร้อง ต่อมาวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2503 ถูกส่งไปคุมขังต่อที่เรือนจำลาดยาว ทองใบ ทองเปาด์ ได้พบปัญหามากมายในกระบวนการยุติธรรม เขาและเพื่อนได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเสรีภาพ มีการเรียกร้องสิทธิและนำมาสู่การปรับปรุงหลายประการ โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ได้หยิบยกคือ ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การต่อสู้ระยะยาวของทองใบได้ผล เขาได้รับการปล่อยตัวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2509 รวมเวลาที่ทองใบ ทองเปาด์ใช้ชีวิตในคุกครั้งนี้ถึง 7 ปี 6 เดือน กับอีก 19 วัน

ทนายความเพื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชน: เมื่อพ้นโทษทองใบ ทองเปาด์ได้ปวารณาตัวว่าจะประกอบอาชีพทนายความต่อสู้เพื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชน โดยการทำคดีเน้นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คนยากคนจนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคมในเรื่องของคดีความ ไม่ได้เรียกร้องค่าแรง เขาจึงได้รับสิ่งตอบแทนเช่น ค่าแรง 40 บาท ข้าวสาร กล้วย น้ำปลา กะปิ อาหารแห้ง ไข่ไก่ เศษเหรียญมัดใส่ถุงเป็นค่าทำคดี

          ทองใบได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ อาทิ ปี พ.ศ.2522 ได้รับโล่ “ทนายความผู้ให้บริการสังคม” จากสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2527 ได้รับรางวัล “แมกไซไซ” สาขาบริสาธารณะ จากมูลนิธิรามอนแมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ พ.ศ.2544 ได้รับรางวัลเกียรติยศการต่อสู้ของสื่อมวลชนเพื่อสิทธิเสรีภาพจากองค์การนิรโทษกรรมสากลแห่งประเทศไทย และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

งานการเมือง: ทองใบ ทองเปาด์ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดมหาสารคามในปี พ.ศ.2543 ระหว่างดำรงตำแหน่งทองใบ ทองเปาด์ยังคงทำหน้าที่ผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมในการกระบวนการยุติธรรม และความก้าวหน้าของประชาธิปไตย โดยได้เดินสายออกอบรมกฎหมายให้ชาวบ้านในชนบท บรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์แก่นิสิตนักศึกษา ร่วมผลักดันและก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งในภาคอีสาน และได้เข้าร่วมโครงการ อบต.สัญจร ของศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่วิทยาลัยการเมืองการปกครองอย่างสม่ำเสมอ

          วาระสุดท้าย : ทองใบ ทองเปาด์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2554 รวมศิริอายุ 84 ปี

ประวัติ จำลอง ดาวเรือง

วัยเด็กและการศึกษา: นายจำลอง ดาวเรือง เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ที่บ้านงัวบา ตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านงัว ต่อด้วยโรงเรียนสารคามพิทยาคมจนจบชั้น ม.3 ได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และมีเพื่อนร่วมรุ่นคือนายถวิล อุดลซึ่งภายหลังได้มีบทบาททางการเมืองร่วมกัน จำลอง ดาวเรืองเป็นผู้ที่เรียนเก่งแต่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์ หลวงพิสิษฐ์ เกษมสวัสดิ์ จึงแนะนำให้จำลองไปเรียนช่างกลที่กรุงเทพฯ พร้อมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดจนจบ

นักการเมือง เสรีไทย และรัฐมนตรี : จำลอง ดาวเรืองได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังจากสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกพ้นจากวาระ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 จำลอง ดาวเรืองชนะการเลือกตั้งได้เป็นตัวแทนเขต 3 และหลังจากชนะการเลือกตั้งเข้าสู่สภา จำลอง ดาวเรืองได้ใช้โอกาสนี้เข้าเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและยังได้สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตอีกด้วย จำลอง ดาวเรือง ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 3 สมัยระหว่างปี พ.ศ.2480-2492 กล่าวโดยสรุปจำลองเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดเสรีนิยม สนับสนุนประชาธิปไตย และมุ่งเน้นยกฐานะของท้องถิ่นให้ได้รับการพัฒนาทัดเทียมกับส่วนกลาง บทบาททางการเมืองสำคัญคือ การคัดค้านและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ไม่ชอบมาพากล เขาได้รวมกลุ่มกับเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งกลุ่ม “บ้านดิษยบุตรปาตี้” ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน จนนำไปสู่การยุบสภาของรัฐบาลหลายชุด

รับหน้าที่เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยจังหวัดมหาสารคามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังได้ร่วมกับเพื่อนสมาชิกสภาฯจำนวนหนึ่งจัดตั้ง “พรรคสหชีพ” ในปี พ.ศ.2489 โดยยึดถือเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์เป็นแนวทาง โดยผู้ก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอีสานที่ให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ อาทิ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ซึ่งบทบาทของสมาชิกสภากลุ่มนี้รู้จักกันในนาม “สี่เสืออีสาน”

          ในบรรยากาศการเมืองยุคเสรีประชาธิปไตย จำลอง ดาวเรือง ดำรงตำแหน่งสมาชิกพฤฒสภา (วุฒิสภา) และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 4 สมัยระหว่างปี พ.ศ.2488-2490 จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 2490 การกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้บทบาททางการเมืองของจำลอง ดาวเรืองยุติลง

           จำลอง ดาวเรืองมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในเหตุการณ์กบฏวังหลวง ความล้มเหลวในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลรวมถึงนายจำลอง ดาวเรือง ก็ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน

ความตายของผู้ขวางเผด็จการ : ช่วงค่ำของวันที่ 3 มีนาคม 2492 ตำรวจได้ทำการย้ายผู้ต้องหาประกอบด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ์ โดยบอกว่าจะนำไปฝากขังที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนโดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการเป็นผู้ควบคุมการขนย้าย 4 ผู้ต้องหาในครั้งนี้

 เมื่อรถคุมขังผู้ต้องหาวิ่งมาถึงถนนพหลโยธินใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เวลาราวตีสามของวันที่ 4 มีนาคม 2492 ผู้ต้องหาทั้งหมดในรถถูกยิงเสียชีวิตโดยแต่ละศพมีกระสุนฝังอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 นัดในสภาพที่ทุกคนยังถูกสวมกุญแจมืออยู่ ต่อมาตำรวจแถลงว่าเกิดจากกลุ่มโจรมลายูได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหาและได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นที่มาที่รู้จักกันในชื่อ “เหตุการณ์สังหาร 4 รัฐมนตรี”

จำลอง ดาวเรือง รวมศิริอายุได้ 38 ปี 4 เดือน 23 วัน (9 ตุลาคม 2453 - 4 มีนาคม 2492)


ภาพ/ข่าว
: จันทร์สุดา การดี


วิทยาลัยการเมืองการปกครอง , วิทยาลัยการเมือง , มหาวิทยาลัยมหาสารคาม , มหาวิทยาลัย มหาสารคาม , Mahasarakham University

 

ประกาศเมื่อวันที่ : 2017-08-29
ผู้ประกาศ : จันทร์สุดา การดี
แนบไฟล์ : ไม่มีไฟล์ข้อมูล