โครงการฝึกอบรมเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นที่ 1
หลักการและเหตุผล
การกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเป้าหมายสำคัญคือการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีรายได้จากพื้นที่ของตนในสัดส่วนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความเป็นอิสระทางการคลังซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นอิสระทางการคลังจะมีอำนาจในการตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณจากแหล่งรายได้ของตนได้อย่างเต็มที่ (สถาบันพระปกเกล้า, 2561: 151) การพัฒนารายได้ของท้องถิ่นเพื่อให้มีความเป็นอิสระทางการคลังและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการจัดบริการสาธารณะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งการพึ่งพาตนเองของท้องถิ่นในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้สามารถทำได้ทั้งในเชิงระบบเชิงพฤติกรรมและด้านการบริหารจัดการ (วีระศักดิ์ เครือเทพและคณะ, 2565) ในการศึกษาของวีระศักดิ์ เครือเทพและคณะ (2565) ยืนยันในเชิงประจักษ์ ผ่านตัวแบบ P-S-I Framework ว่าการมีนโยบายที่ชัดเจน (Policy) ทางการบริหารและความมุ่งมั่นใจการจัดเก็บและพัฒนารายได้ของท้องถิ่น การมีระบบสนับสนุน (System) และกำกับติดตามแหล่งรายได้ และการใช้แนวคิดเชิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชน (Individual) โดยเฉพาะมาตรการสะกิด (Nudge Approach) มีความตรงภายนอกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานคลังท้องถิ่นของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยได้ ซึ่งช่วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บรายได้นั้นจะให้น้ำหนักเพียงเฉพาะมาตรการสะกิดเพียงอย่างเดียวจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่อาจสูงพอ การพัฒนาเชิงระบบบริหารจัดการหรือกลไกการทำงานยังคงมีความสำคัญอยู่และจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไปซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเลือกใช้เทคนิควิธีต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการดำเนินงานของท้องถิ่น
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยศูนย์พัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (Center for Sustainable Local Governance Development : SLGD) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ของ อปท. จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยและให้คำปรึกษาการจัดการฝึกอบรมเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนำชุดองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยภายใต้วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ หน่วย บพท. ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อเป็นต้นแบบเครื่องมือและวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ในการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ อปท. อื่น ๆ สามารถใช้เป็นกรณีศึกษา พร้อมกับการทำซ้ำ (Replication) หรือการปรับใช้ในพื้นที่และบริบทที่แตกต่างกัน ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมใช้ข้อมูลจริงเพื่อการแก้ไขปัญหา และออกแบบมาตรการ เครื่องมือและแผนที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยมีการให้คำแนะนำ การติดตามผลความสำเร็จและความคุ้มค่าของแผนการดำเนินงานพัฒนารายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ารับการอบรมและมีการนำเอาแผนหรือโครงการการพัฒนาศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ไปใช้ปฏิบัติการได้จริง
ดังนั้นโครงการนี้จึงเน้นการขยายผลชุดความรู้และเทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการเพิ่มศักยภาพในการเพิ่มรายได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้ชุดความรู้ของสถาบัน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ หน่วย บพท. เพื่อนำไปสู่การเป็นแนวทางการขยายผลองค์ความรู้การพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มิใช่การอบรบเพียงกฎระเบียบ หากแต่เป็นเน้นเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมหลักการพึ่งพาตนเองทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะยาว โดยเฉพาะมิติการปรับเข้าสู่บริบทท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสร้างความเป็นอิสระของท้องถิ่นที่ระเบิดจากภายในตัวองค์กรปกครองท้องถิ่นต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้รับการอบรมได้เรียนรู้แนวคิด ประสบการณ์และกลยุทธ์ในการพัฒนารายได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สามารถปรับใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้
- เพื่อให้ผู้รับการอบรมฝึกปฏิบัติการเชิงเทคนิคในการพัฒนาโครงการเพื่อเป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายทางวิชาการในการพัฒนารายได้ท้องถิ่นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
การฝึกอบรมนี้มีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรของ อปท. ที่เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของ อปท. โดยกำหนดให้การอบรมเป็นกลุ่มจำนวนหนึ่งกลุ่มต่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้เข้าร่วมจำนวน 3-5 คน ต่อ อปท. ซึ่งต้องมีบุคลากร อปท. ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ดังนี้- ผู้บริหาร อปท. ฝ่ายการเมือง ได้แก่ นายก อปท. หรือรองนายก อปท.
- ผู้บริหาร อปท. ฝ่ายข้าราชการประจำ ได้แก่ ปลัด อปท. รองปลัด อปท. หรือผู้บริหาร อปท.ที่รับผิดชอบทางด้านการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น เช่น ผู้อำนวยการ (ผอ.) กองคลัง หัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้หรือส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
- บุคลากร อปท. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น เช่น นักวิชาการจัดเก็บรายได้ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานด้านพัฒนารายได้และบริหารจัดเก็บภาษี หรือเจ้าหน้าที่พัฒนา/จัดเก็บรายได้ท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ที่จะสามารถร่วมเรียนรู้ในการเขียนโครงการและแผนงาน
ระยะเวลาและสถานที่การฝึกอบรม
ระหว่างวันที่ 5 - 7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น
รูปแบบการอบรม
การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นครั้งนี้เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบเป็นชุดการเรียน (Module model/ learning package) และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 3 วัน รวมตลอดหลักสูตรประมาณ 21 ชั่วโมง ด้วยรูปแบบการฝึกอบรมในสถานที่จริง (Onsite) ตามความเหมาะสมของสถานการณ์และเนื้อหาของการเรียนรู้ โดยมีรูปแบบการฝึกอบรม ดังนี้
วันที่หนึ่ง จำนวน 7 ชั่วโมง
การบรรยายในหัวข้อพื้นฐานเพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและเทคนิคการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น และมีการฝึกปฏิบัติเพื่อเสริมความเข้าใจจากการบรรยายในประเด็นการพัฒนารายได้ท้องถิ่น โดยมีการแบ่งประเด็นการบรรยายดังนี้
ภาคเช้า 09.00-12.00 น. แบ่งเป็นกิจกรรมย่อยดังนี้
- พิธีเปิด กิจกรรมแนะนำหลักสูตร และกิจกรรมละลายพฤติกรรม
- ทิศทางของรัฐในการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองทางการคลังของท้องถิ่นและกรอบคิดเชิงยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและเมนูเทคนิคพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น
- กิจกรรม ReFresh Round 1 (ละลายพฤติกรรมและสร้างความรู้จัก)
ภาคบ่าย 13.00-17.00 น. แบ่งเป็นกิจกรรมย่อยดังนี้
- กิจกรรม Workshop Chapter 1 เทคนิคสำรวจ เทคโนโลยีสารสนเทศ (การประยุกต์ใช้ AppSheet ในการบริหารการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น) เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น และระบบอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีของประชาชน
- กิจกรรม Reflex Round 1 (การสังเคราะห์ประเด็นและทบทวนความรู้ประจำวัน)
**หมายเหตุ อปท.ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการต้องนำโนตบุคมาด้วยอย่างน้อย 1 เครื่องต่ออปท.เพื่อประกอบการจัดฝึกอบรม
วันที่สอง จำนวน 7 ชั่วโมง
การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพิ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยใช้กรณีศึกษาในหัวข้อปฏิบัติการออกแบบเทคนิคพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น โดยมีประเด็นเรียนรู้สำคำคัญดังนี้
ภาคเช้า 09.00-12.00 น. แบ่งเป็นกิจกรรมย่อยดังนี้
- กิจกรรม ReFresh Round 2 (การทบทวนความรู้เพื่อเตรียมการรับความรู้ใหม่)
- กิจกรรม Workshop Chapter 2 เทคนิคสะกิด (Nudge strategies) เพื่อเพิ่มความเต็มใจของประชาชนในการชำระภาษี
- กรณีตัวอย่างการใช้เทคนิคการสะกิดเตือนการชำระภาษีและค่าธรรมเนียมของท้องถิ่น
- กิจกรรม Workshop Chapter 3 การขยายฐานภาษีท้องถิ่นจากการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การขจัดความยากจนและการสร้างรายได้จากทุนทรัพยากรและวัฒนธรรมชุมชน
ภาคบ่าย 13.00-17.00 น. แบ่งเป็นกิจกรรมย่อยดังนี้
- กิจกรรม Workshop Chapter 4 แนวทางเบื้องต้นการวางแผน/โครงการการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น
- กิจกรรม Reflex Round 2 (การสังเคราะห์ประเด็นและทบทวนความรู้ประจำวัน)
วันที่สาม จำนวน 7 ชั่วโมง
เป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาจากพื้นที่จริงของผู้ฝึกอบรม (Problem based) และนำเสนอหัวข้อโครงการเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ เพื่อการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นและผลักดันให้นำโครงการดังกล่าวไปใช้จริงในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
ภาคเช้า 09.00-12.00 น. แบ่งเป็นกิจกรรมย่อยดังนี้
- กิจกรรม ReFresh Round 3 (การทบทวนความรู้เพื่อเตรียมการรับความรู้ใหม่)
- กิจกรรม Workshop Chapter 5 การฝึกปฏิบัติการเขียนโครงการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น (การทบทวนปัญหาและการแสวงหาแนวทางพัฒนารายได้)
ภาคบ่าย 13.00-17.00 น. แบ่งเป็นกิจกรรมย่อยดังนี้
- กิจกรรมนำเสนอผลงานแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการพัฒนารายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น Project pitching
- กิจกรรมสรุปผลการประชุมและขมวดปัจจัยแห่งความสำเร็จ
- กิจกรรมการประกาศรางวัลแผน/โครงการ/กิจกรรมพัฒนารายได้ท้องถิ่น การมอบรางวัล เงินรางวัลและสรุปเนื้อหาการอบรม และการแจ้งสิทธิประโยชน์ของท้องถิ่นในการเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจาก บพท.ประจำปีงบประมาณ 2568
*หมายเหตุ กระบวนการจัดการฝึกอบรมอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ทั้งนี้มีการประเมินก่อน-หลังการฝึกอบรม
หัวข้อการฝึกอบรม
- ทิศทางของรัฐในการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองทางการคลังของท้องถิ่น กรอบคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และเมนูเทคนิคพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น
- เทคนิคสำรวจ เทคโนโลยีสารสนเทศ (การประยุกต์ใช้ AppSheet ในการบริหารการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น) เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น และระบบอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีของประชาชน
- เทคนิคสะกิด (Nudge strategies) เพื่อเพิ่มความเต็มใจในการจ่ายภาษี
- การขยายฐานภาษีท้องถิ่นจากการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การขจัดความยากจน และการสร้างรายได้จากทุนทรัพยากรและวัฒนธรรมชุมชน
- ฝึกปฏิบัติการเขียนโครงการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น
- นำเสนอผลงานแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการพัฒนารายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การประกาศรางวัลแผน/โครงการ/กิจกรรมพัฒนารายได้ท้องถิ่น มอบรางวัลและสรุปเนื้อหาการอบรมและแจ้งสิทธิประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการในการขอทุนท้องถิ่นวิจัยนวัตกรรมประจำปีงบระมาณ 2568
เงื่อนไขการสำเร็จการฝึกอบรม
ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมตามโครงการจะอนุมัติให้ผ่านการฝึกอบรม ต่อเมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนคือเข้าร่วมการฝึกอบรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาฝึกอบรม และเมื่อสำเร็จการฝึกอบรม จะได้รับประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
การรับสมัคร
อปท.ที่สมัครต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น หากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ หนองคาย กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม จะรับพิจารณาเป็นพิเศษ
รับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้ - 5 เมษายน 2567
เมื่อกดส่งข้อมูลแล้ว ผู้สมัครจะได้รับอีเมลตอบกลับจากโครงการฯ เพื่อยืนยันการรับสมัคร และจะได้รับลิงก์ (Link) สำหรับส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น
ในกรณีที่ผู้สมัครไม่ได้รับอีเมลตอบกลับ ให้ส่งอีเมลไปที่ [email protected] เพื่อยืนยันการสมัครและขอรับลิงก์สำหรับส่งข้อมูลเพิ่มเติม
หากมีปํญหาในการสมัคร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Line Official: @640grtlf (มี@)
ประกาศรายชื่อ 30 เมษายน 2567
***ทั้งนี้วันเวลาในการปิดรับสมัครและการประกาศรายชื่ออาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
ผู้มีสิทธิเข้ารับการอบรมจะต้องยืนยันสิทธิการเข้าร่วมการฝึกอบรมตามที่โครงการฯ กำหนด ทั้งนี้
หากมีกรณีที่มีการยืนยันสิทธิ์ในแต่ละรุ่นไม่ครบตามจำนวนเป้าหมาย โครงการฯ อาจประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติม ก็ได้
ทั้งนี้การพิจารณาประกาศรายชื่อผู้ผ่านการอบรมของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการฝึกอบรม
การฝึกอบรมบุคลากรด้านการพัฒนารายได้สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนทั้ง 2 รุ่นโดยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยการสนับสนุนงบประมาณ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมภายใต้วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จะยังไม่มีการดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมในการฝึกอบรม ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักให้แก่บุคลากรที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมฝึกอบรมตามระเบียบกระทรวงการคลัง
สิทธิประโยชน์ในการได้รับจากการฝึกอบรม
- ผู้ผ่านการอบรมตามเกณฑ์หลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการฝึกอบรม ออกโดยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
- การมอบรางวัลเป็นเงินและของที่ระลึกให้แก่กลุ่ม อปท. ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้คะแนนสูงสุดสามลำดับแรกในการประกวด/ ประชันแผน/โครงการการพัฒนารายได้ท้องถิ่นของแต่ละรุ่น โดยกำหนดวงเงินรางวัลชนะเลิศ 7,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 5,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง 3,000 บาท
- สิทธิขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมในการเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนวิจัยท้องถิ่นภายใต้โครงการท้องถิ่นวิจัยนวัตกรรม (RDG) ประจำปีงบประมาณ 2568 ของบพท. ต่อไป
- การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนักพัฒนารายได้ท้องถิ่นอันจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมการทำงานร่วมกันทางวิชาการและการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วม
ผู้รับผิดชอบ และข้อมูลสำหรับติดต่อ
ผู้รับผิดชอบโครงการฯ
โครงการวิจัยและให้คำปรึกษาการจัดการฝึกอบรมเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการโดยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้ศูนย์พัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (Center for Sustainable Local Governance Development : SLGD) (รองศาสตรจารย์สุนทรชัย ชอบยศ หัวหน้าโครงการและประธานศูนย์ฯ)
ข้อมูลสำหรับติดต่อโครงการ
อีเมล : [email protected]
Line Official: @640grtlf (พิมพ์ @ ก่อน)
ผู้ประสานงานโครงการ
รองศาสตรจารย์สุนทรชัย ชอบยศ โทร. 090 487 0377 Email : [email protected]
อาจารย์จตุรงค์ ศรีสุธรรม โทร 064 0603285 อีเมล [email protected]
นางสุทธิดารัตน์ ชาวชายโขง โทร. 0895694953 Email : [email protected]
นางสาวปัทมาวรรณ ป้องปิ่น โทร. 065 429 2401 Email : [email protected]
ดาวน์โหลดรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก