โครงการฝึกอบรมเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นที่ 1 (วันที่3)

      

เมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา วิทยาลัยการเมืองกาปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยศูนย์พัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (SLDG) ภายใต้การสนับสนุนของวิทยาสถาน”ธัชภูมิ”เพื่อการพัฒนาพื้นที่ หน่วย บพท. ได้ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือรุ่นที่ 1 ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคอีสานสนใจเข้าร่วมกว่า 12 แห่ง โดยมีบุคลากรท้องถิ่นทั้งผู้บริหาร ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานคลังท้องถิ่นจำนวน 41 คน ซึ่งมีพิธีเปิดงานโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เชิงชาญ จงสมชัย คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามประธานในพิธี กล่าวรายงานโดยรองศาสตราจารย์สุนทรชัย ชอบยศ ประธานศูนย์พัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่น (SLGD) หัวหน้าโครงการ ในการนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรผู้ทรงคุณหลากหลายสถาบัน โดยมีบรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์ความจำเป็นและเทคนิคการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น (REST Academy)” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักด์ เครือเทพ รักษาการรองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (หน่วยบพท.) และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น (ฝ่าย 4) เติมเต็ม workshop เทคนิคสำรวจ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น และระบบอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีของประชาชน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมในแนวคิดและการทดลองทำแอพลิเคชั่นอย่างง่าย
นอกจากนี้ผู้เข้ารับการอบรมยังได้เรียนรู้เทคนิคสะกิด (Nudge strategies) เพื่อเพิ่มความเต็มใจของประชาชนในการชำระภาษี และกรณีตัวอย่างการใช้เทคนิคการสะกิดเตือน การชำระภาษีและค่าธรรมเนียมของท้องถิ่น จากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม การพัฒนานโยบายด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งประเด็นการขยายฐานภาษีท้องถิ่น/การสร้างรายได้ใหม่ของท้องถิ่น “ฟื้นเมืองสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น” และได้มีกิจกรรมการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ค้นหาสาเหตุของปัญหา (Pain point) คิดหาวิธีหรือแนวทางแก้ไข พัฒนาแนวคิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด สู่กลยุทธ์การพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาข้อเสนอโครงการท้องถิ่นวิจัยนวัตกรรม ซึ่งในวันสุดท้ายมีการประกวดโครงการผลปรากฎดังนี้
🔸รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยเทคนิคสะกิดเตือน“Nudge” เทศบาลตำบลสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
🔸รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียม การเก็บขยะมูลฝอย ของเทศบาลตำบลท่าขอนยาง” เทศบาลตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
🔸รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ “โครงการการนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัจฉริยะโดยการใช้ AI ผสานเทคโนโลยีการสำรวจที่ทันสมัย สู่การสร้างรายได้ให้เทศบาลเมืองศิลามากขึ้น” เทศบาลเมืองศิลา จังหวัดขอนแก่น
🔸รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ และเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
การฝึกอบรมครั้งนี้ได้รับความสนใจและการตอบรับจากบุคลากรผู้เข้ารับการอบรมอย่างดียิ่งโดยได้เรียนรู้แนวคิด ประสบการณ์และกลยุทธ์ในการพัฒนารายได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถปรับใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และอุดรูรั่ว รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่อไป