เมนูหลัก > COPAG จัดโครงการสัมมนาวิขาการ COPAG SPECIAL TALKS No.2 : รำลึก 54 ปีการประหารชีวิตครูครอง จันดาวงศ์ 

 
 
 

COPAG จัดโครงการสัมมนาวิขาการ COPAG SPECIAL TALKS No.2 : รำลึก 54 ปีการประหารชีวิตครูครอง จันดาวงศ์ 

 

เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2558 เวลา 12.30 - 16.00 น. ณ ห้องประชุมวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (D-207) วิทยาลัยการเมืองฯ โดย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา จัดโครงการสัมมนาวิขาการ COPAG SPECIAL TALKS No.2 : รำลึก 54 ปีการประหารชีวิตครูครอง จันดาวงศ์  ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ อาจารย์ประจำภาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ( สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายวิทิต จันดาวงศ์  (บุตรชายครูครอง จันดาวงศ์) เป็นวิทยากร มี รศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เป็นประธานเปิดโครงการ และกล่าวรายงานโดย อาจารย์เฉลิมเกีรติ ภาระเวช รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย

 

การบรรยายเรื่อง “ครอง จันดาวงศ์กับการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวนาในอีสาน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชัยภัทรธนานันท์ และการบรรยายเรื่อง “ชีวิตและบทบาทของนายครอง จันดาวงศ์” โดยนายวิทิต จันดาวงศ์   ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข่าร่วมสัมมนา

 

นายครอง จันดาวงศ์ มีประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคม  โดยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นายครอง จันดาวงศ์ ได้ร่วมกับกลุ่มครูจำนวนหนึ่งในจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีแกนนำสำคัญคือนายเตียง ศิริขันธ์จัดตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้น เพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในจังหวัด นอกจากนี้ยังเคยเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยสายอีสานในจังหวัดสกลนครเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม เมื่อสงครามยุติลงนายครอง จันดาวงศ์ ได้เข้าร่วมคัดค้านการที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องในสงครามเกาหลีและการที่รัฐบาลไทยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามครั้งนี้ จนกระทั่งถูกรัฐบาลจับกุมด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หรือที่รู้จักกันในกรณี “กบฏสันติภาพ” ในปี พ.ศ.2495 โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2504 หลังจากถูกจับกุมอีกหลายครั้ง นายครอง จันดาวงศ์ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502 ซึ่งเป็นการตัดสินที่ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้นิสิตและผู้สนใจทั่วไปได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องบทบาทและแนวคิดของนายครอง จันดาวงศ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนสำคัญคนหนึ่งของสังคมไทย และยังเป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและประวัติความคิดทางการเมืองอีกด้วย

ทั้งนี้มี คณาจารย์ บุคลากร นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 40 คน

 

ภาพ : ศรัณยู บุตรโคตร, ภัทรกวี กันทรมงคล

ข่าว : จันทร์สุด การดี

 


วิทยาลัยการเมืองการปกครอง , วิทยาลัยการเมือง , มหาวิทยาลัยมหาสารคาม , มหาวิทยาลัย มหาสารคาม , Mahasarakham University

 

ประกาศเมื่อวันที่ : 2015-05-08
ผู้ประกาศ : จันทร์สุดา การดี
แนบไฟล์ : ไม่มีไฟล์ข้อมูล